วันพุธที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

พุทธตำนาน...วันเพ็ญเดือนสิบสอง




เพ็ญเดือนสิบสอง...รำลึกคุณพุทธมารดา...แม่กาเผือก



ในสมัยปฐมกัลป์ มีพญากาเผือก ๒ ตัวผัวเมีย ทำรังอยู่ที่ใต้ต้นมะเดื่อริมฝั่งแม่น้ำคงคา อันเป็นธรรมชาติสถานที่รื่นรมย์ ในเวลาต่อมาพระโพธิสัตว์ได้ปฏิสนธิเกิดในครรภ์พระมารดาแม่พญากาเผือก พร้อมกันทั้ง ๕ พระองค์ เมื่อครบทศมาส แม่กาเผือกก็เกิดออกไข่ ณ ที่รังต้นมะเดื่อจำนวน ๕ ฟอง ( สถานที่นี้ ในการต่อมาคือ วัดพระเกิด ) แม่กาเผือกดูแลฟักด้วยความทะนุถนอมเป็นอย่างดี

ครั้นอยู่มาวันหนึ่งพระยากาเผือก ได้ออกไปหากินถิ่นแดนไกล ได้ไปถึงสถานที่ที่หนึ่งซึ่งอุดมสมบูรณ์ ด้วยพืชพันธ์ธัญญาหาร แม่กาเผือกได้เพลินหากินอาหารชื่นชมกับธรรมชาติอันแสนรื่นรมย์จนมืดค่ำ พอดีฝนตกหนัก ฟ้าคะนอง ลมพายุใหญ่พัดกระหน่ำทำให้มืดครึ้มทั่วไปหมด ทำให้พญากาเผือกหาหนทางออกไม่ถูก จึงหลงอยู่ในบริเวณสถานที่นั้น ( สถานที่นั้นในกาลต่อมาได้ชื่อว่าเวียงกาหลง )

แม่กาเผือกได้พักอยู่ที่เวียงกาหลงคืนหนึ่ง พอรุ่งเช้า แม่การีบบินกลับที่พัก ณ. รังต้นมะเดื่อริมฝั่งน้ำ แต่ปรากฏว่ากิ่งมะเดื่อที่ทำรังถูกพายุพัดหักล้มลงไปในแม่น้ำ แม่กาเผือกตกใจรีบถลาไปหาลูก แต่อนิจจา หาเท่าไรก็หาไม่พบ แม่กาเผือกพยายามหาไข่ลูกของตนเองไปทุกสถานที่ ด้วยความโศกเศร้าเสียใจในความรักอย่างสุดซึ้ง จนไม่สามารถระงับความอาลัยทุกข์ได้ ในที่สุดก็สิ้นใจตายอย่างน่าสงสาร

ด้วยอานิสงค์ในความรักอันบริสุทธิ์ที่มีต่อลูก ทั้งที่ลูกของแม่กาเผือกเป็นพระโพธิสัตว์ถึง ๕ พระองค์ เป็นกุศลหนุนส่งให้แม่กาเผือกตายไปเกิดอยู่บนแดนพรหมโลกชั้น สุทธาวาสมีวิมานทองคำสดใสริสุทธ์ งดงามตระการตา ได้พระนามว่า “ ฆติกามหาพรหม “ จักได้เป็นผู้ถวายอัฏฐะบริขารบวชแก่ลูกทั้ง ๕ พระองค์ เมื่อจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ส่วนไข่ทั้ง๕ ได้ถูกลมพัดตกน้ำไหลไปยังสถานที่ต่างๆ ไข่ฟองที่ ๑ แม่ไก่ได้เก็บและนำไปดูแลรักษา ไข่ฟองที่๒ แม่นาคราชได้เก็บนำไปดูแลรักษา ไข่ฟองที่ ๓ แม่เต่าเก็บไปดูแลรักษา ไข่ฟองที่ ๔ แม่โคเก็บไปดูแลรักษา ไข่ฟองที่ ๕ แม่ราชสีห์เก็บไปดูแลรักษา

ครั้นในกาลเวลาต่อมาพระโพธิสัตว์ทั้ง ๕ ก็ประสูติออกจากไข่ทั้ง ๕ ปรากฏเป็นมนุษย์รูปร่างสวยสดงดงามทั้ง ๕ พระองค์ ในเวลาเดียวกันตามลำดับ ของแม่เลี้ยงทั้ง ๕ ที่นำไข่ไปดูแลรักษา พระโพธิสัตว์ทั้ง ๕ ได้เจริญเติบโตอยู่กับแม่เลี้ยง ด้วยความกตัญญูจึงรู้ทำหน้าที่ทุกอย่างทดแทนบุญคุณแม่เลี้ยงเป็นอย่างดี จนถึงอายุครบ ๑๒ ด้วยบุญกุศลเก่าหนุนส่ง ก็มีสิทธิ์คิดที่จะออกบวชบำเพ็ญ เนกขัมมะบารมี เป็นฤาษีอยู่ในป่า จึงได้อำลาแม่เลี้ยงของตนเหมือนกันทั้ง ๕ พระองค์ ฝ่ายแม่เลี้ยงถึงแม้จะมีความรักและอาลัยลูกเพียงใดก็ไม่สามารถขัดขวางความประสงค์ตามเจตนาที่เป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ จึงอนุญาตให้ลูกออกบวชด้วยความอนุโมทนา

ด้วยปณิธานอันแน่วแน่ ของพระโพธิสัตว์ทั้ง ๕ พระองค์ ที่มุ่งมั่นจะบำเพ็ญบารมีพระโพธิญาณ เพื่อเป็นพระพุทธเจ้าโปรดสัตว์โลก แม่เลี้ยงทั้ง ๕ เห็นปณิธานอย่างนั้นจึงฝากนามของแม่เลี้ยงเอาไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ตำนานให้แก่โลกต่อไป ตามลำดับพระนามดังต่อไปนี้
องค์ที่ ๑ มีพระนามว่า พระกกุสันโธ เพราะตามนามแม่เลี้ยงเป็นไก่
องค์ที่ ๒ มีพระนามว่า พระโกนาคมโน เพราะนามแม่เลี้ยงเป็นนาค
องค์ที่ ๓ มีพระนามว่า พระกัสสโป เพราะตามนามแม่เลี้ยงเป็นเต่า
องค์ที่ ๔ มีพระนามว่าพระโคตรโม เพราะตามนามแม่เลี้ยงเป็นโค
องค์ที่ ๕ มีพระนามว่า พระศรีอริยเมตไตรโย เพราะตามนามแม่เลี้ยงเป็นราชสีห์

ฝ่ายพระโพธิสัตว์ทั้ง ๕ เมื่ออกบวชเป็นฤๅษีก็ได้บำเพ็ญเพียรพระกัมมัฏฐานสำเร็จฌาน อภิญญาสมาบัติ จึงสามารถเหาะไปหาอาหารผลไม้ และบำเพ็ญเพียรที่ป่า ดอยสิงกุตตระ ณ. ใต้ต้น อณิโครธ อันร่มรื่นด้วยกิ่งไม้สาขาใหญ่ ด้วยเหตุปัจจัยในกุศลมีธรรม ฤาษีทั้ง ๕ ได้มาพบกัน ณ ที่นี้ โดยมิได้นัดหมายรู้จักกันมาก่อน จึงสอบถามความเป็นมาของกันและกัน จึงได้รู้ว่าแต่ละองค์มีแต่แม่เลี้ยง แม่ที่แท้จริงอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้...??? ฤๅษีทั้ง ๕ จึงได้ตั้งสัจจะอธิฐานขอให้ได้พบแม่บังเกิดเกล้าที่แท้จริง...เป็นเหตุให้ท้าวฆติกามหาพรหมซึ่งเป็นแม่ทราบเหตุการณ์ทั้งหมด จึงจำแลงเป็นแม่กาเผือกขาวสวยงามยิ่งนัก มาปรากฏอยู่หน้าฤๅษีทั้ง ๕

ฝ่ายฤๅษีทั้ง ๕ ก็รู้ด้วยญาณทัศนะทันทีว่า นี่แหละเป็นแม่บังเกิดเกล้าที่แท้จริง จึงสอบถามวามเป็นมาของแม่กาเผือกตั้งแต่ต้นว่า เรื่องราวเป็นมาอย่างไร แม่กาเผือกจึงเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ลูกฟัง
เมื่อลูกฤๅษีได้ทราบเหตุเช่นนั้น แล้วรู้สึกสลดสังเวชใจเป็นอย่างยิ่งและสำนึกในบุญคุณอันใหญ่หลวงของแม่กาเผือก จึงน้อมกราบ นมัสการ ฆติกามหาพรหมผู้เป็นแม่ที่ให้กำเนิดชีวิต และกราบขอสัญลักษณ์อนุสรณ์ของแม่กาเผือกไว้บูชา แม่กาเผือกได้ประทานผ้าฝ้ายเป็นด้ายฟั่นตีนกาสัญลักษณ์อนุสรณ์ ให้แก่ลูกฤๅษีทั้ง ๕ ไว้ใช้เป็นไส้ประทีปจุดบูชาทุกวันพระและต่อมาเป็นประเพณีจุดประทีป ตีนกาบูชาแม่กาเผือก ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ ลอยกระทง เป็นตำนานสืบไว้ในโลกาตลอดกาลนาน เมื่อแม่กาเผือกประทานสัญลักษณ์ไว้ให้กับฤๅษีทั้ง ๕ ก็ลากลับเทวสถาน

พระโพธิสัตว์ทั้ง ๕ ต่างก็พากันตั้งหน้าบำเพ็ญเพียรรักษาศีลธรรมภาวนามิได้ขาด ทุกวันพระก็จุดประทีปตีนกาบูชาพระแม่กาเผือกผู้เป็นแม่อยู่เสมอ เป็นเวลานานหลายปีชีวีฤๅษีทั้ง ๕ ก็ดับขันธ์ได้ไปเกิดบนเทวโลก ชั้นดุสิตพิภพอันเป็นที่อยู่ขององค์พระโพธิสัตว์ทั้งหลาย ได้เสวยทิพยสมบัติอยู่ในที่นั้น และในกาลต่อมาก็ได้เวียนบำเพ็ญบารมีทุกภพชาติที่เนิดเกิดในสังสารวัฏนี้ จนบารมีเต็มเปี่ยมสมบูรณ์ทั้ง ๓๐ ทัศแล้ว ก็ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ไหนจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ฆติกามหาพรหมผู้เป็นแม่ต้นกัปโลกาก็จะนำเอาบริขาร คือ บาตรไตรจีวร มาถวายลูกโพธิสัตว์ทั้ง ๕ พระองค์ ในชาติสุดท้ายที่จะได้เป็นพระพุทธเจ้าโปรดโลกทุกพระองค์

กาลเวลาอันยาวนานผ่านไปจนถึงปัจจุบันนี้ พระโพธิสัตว์ลูกแม่กาเผือกต้นปฐมกัปก็ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าโปรดโลกไปแล้วถึง ๔ พระองค์ ตามลำดับดังนี้คือ
๑. พระกกุสันโธสัมมาสัมพุทธเจ้า มีอายุ ๔ หมื่นปี มีเขมวตีนครของพระเจ้าเขมะเป็นราชธานี
๒. พระโกนาคมโนสันโธ สัมมาสัมพุทธเจ้า มีอายุ ๓ หมื่นปี มีโสภวตีนครของพระเจ้าโสภะเป็นราชธานี
๓. พระกัสสโปสัมมาสัมพุทธเจ้า มีอายุ ๒ หมื่นปี มีพาราณสีนครของพระเจ้ากิงกิเป็นราชธานี
๔. พระโคตโมสัมามสัมพุทธเจ้า มีอายุ ๘๐ ปี มีกบิลพัสดุ์ของพระเจ้าวสุทโธทนะเป็นราชธานี
ส่วนพระโพธิสัตว์องค์ที่ ๕ อันเป็นลูกองค์สุดท้ายของแม่กาเผือก คือพระศรีอริยเมตไตรย์ จักเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๕ ในภัททกัปป์นี้ จะมีอายุถึง ๘ หมื่นปี

ในยุคพระศรีอริยเมตไตรย์นั้น สภาพสังคมมนุษย์จะอุดมสมบูรณ์พูนสุขมาก เพราะผู้คนมีศีลธรรมอยู่กันด้วยความเมตตาธรรม มีศีล ๕ บริสุทธิ์ทุกคน จึงมีทรัพย์สมบัติมาก มีอายุยืนยาว ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ มีรูปร่างหน้าตาสวยสดงดงาม ผ่องใสเบิกบานด้วยศีลธรรมกันหมดและเพราะบารมีของพระพุทธเจ้า
ศรีอริยเมตไตรย์ ที่สั่งสมบารมีเพื่อความสุขสันติของโลก ซึ่งมีพระเจ้าสังขจักพรรดิทรงปกครองบ้านเมืองโดยชอบธรรมในเมืองเกตุมวดีนคร แผ่ธรรมจักรพรรดิให้คนรักษาศีล ๕ ทั้งโลก เมื่อพระศรีอริยเมตไตรย์ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วผู้คนจึงได้ฟังพระธรรมจักร ได้ดื่มรสอมตะธรรมแห่งพระศรีอริยเมตไตรย์ ได้บรรลุธรรมถึงสวรรค์นิพพานโดยแท้ ผู้คนในยุคนั้นจึงโชคดีที่สุดเกิดมาเพื่อสันติสุข เข้าถึงศีลธรรมอันดีงามทั้งหมด






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น